Tag Archives: การอ่าน

เทคโนโลยีกับวิถีการอ่านของวัยรุ่น

จับกระเเสการอ่านหนังสือของวัยรุ่นไทยท่ามกลางยุคสมัย ” เทคโนโลยีนิยม ” ของท่านผู้นำประเทศคนปัจจุบัน ก็คงไม่ผิดนักถ้าจะบอกว่าวิถีการอ่าน…ของวัยรุ่นยุคนี้ เริ่มเข้าสู่มุมมืดมากขึ้นทุกที จากผลการวิจัยล่าสุดพบว่าประชาชนคนไทยเฉลี่ยเเล้วอ่านหนังสือกันค่อนข้างน้อย คือ ๖ บรรทัดต่อปี แต่กลับดูทีวีมากถึง ๓ ชั่วโมง๕๐ นาทีต่อวัน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะยุคกระเเสบริโภคนิยม ผนวกกับยุคเทคโนโลยีที่เอื้อต่อการเสพข้อมูลข่าวสารที่ทันสมัย จึงกลายเป็นทางเลือกใหม่ในการบริโภคข่าวสารให้กับประชาชน โดยเฉพาะวัยรุ่นที่หลงใหลในเทคโนโลยีจนกลายเป็นกระเเสเเฟชั่น “ ซึ่งนับว่าเป็นจุดอันตรายอย่างยิ่ง” ของคนที่จะขึ้นไปสู่พลพรรคปัญญาชนในสังคม

ภายใต้กฎเกณฑ์กระเเสสังคมอิเล็กทรอนิกส์ หากจะมองอีกเเง่มุมหนึ่ง มันก็คงไม่ผิดมากนักเพราะประดิษฐกรรมเหล่านี้ล้วนเเล้วแต่ถูกคิดเเละสร้างสรรค์มาจากหัวสมองของมนุษย์ที่มุ่งหวังจะพัฒนาวัตถุอันเกิดจากจินตนาการที่บรรเจิดเพริศเเพร้วขึ้นมาเพียงเพื่อสนองความต้องการของตน

หากลองเปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาเเล้ว หรือกำลังพัฒนาบางประเทศจะเห็นได้ว่าประชากรส่วนใหญ่ ให้ความสนใจในการอ่านหนังสือกันมาก ซึ่งนอกจากจะเป็นการยกระดับคุณภาพทางด้านต่าง ๆ แล้วยังถือเป็นบรรทัดฐานของการเรียนรู้เเละเป็นฐานในการพัฒนา โดยเฉพาะวัยรุ่นหนุ่มสาวก็ยังนิยมท่องโลกด้วยตัวอักษรของหนังสือมากกว่าการท่องโลกด้วยอักษรของหน้าจอคอมพิวเตอร์ เเต่สิ่งที่ปรากฎกับวัยรุ่นไทยอยู่ในขณะนี้กลับสวนทางกับกระแสโลก นั่นเป็นสิ่งที่ทำให้ต้องกลับมาขบคิด

หลายครั้งที่ต้องตั้งคำถามกับตัวเองในสิ่งที่ได้พบเห็นกับวิถีการอ่าน…ของวัยรุ่นในยุคนี้ว่า ทำไมเหล่าวัยโจ๋วัยจ๊าบถึงไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเรื่องของการอ่านหนังสือทั้ง ๆ ที่หนังสือจะเป็นตัวเพิ่มพูนสติปัญญาให้พวกเขาได้ฉลาดรอบรู้ เสริมสร้างแนวความคิดให้เเตกฉานในการดำเนินชีวิต เเละเเยบยลในการเเก้ปัญหาต่าง ๆ ของเเต่ละช่วงจังหวะชีวิต เเล้ววัยรุ่นยุคนี้ เขาเสพหรือเเสวงหาความรู้มาเป็นอาหารสมองกันอย่างไร ?